สำหรับเด็กในวัยแรกเกิดกิจวัตรประจำวันของเขาคือการเสริมพัฒนาการที่ดีที่สุด วันนี้เราจึงขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาเสริมพัฒนาการของลูกไปด้วยกันค่ะ

รู้จักพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กวัย 0-1 เดือน

พัฒนาการด้านการมองเห็น

เด็กในวัยประมาณ 1 เดือนจะมองเห็นชัดเมื่อวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้มาก ๆ หรือประมาณ 8-10 นิ้วเท่านั้น แต่ถึงจะมองเห็นไม่ชัดแต่น้อง ๆ ก็ยังสามารถชำเลืองหรือมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้อยู่

พัฒนาการด้านร่างกาย

เด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 1 เดือนจะสามารถเคลื่อนไหวมือ แขน ขาเองได้ แต่ยังพยุงศรีษะเองไม่ได้ นอกจากนี้ยังสามารถแสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าเหยเกหรือการยิ้ม

พัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา

เด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 1 เดือน สมองและระบบประสาทจะเริ่มเชื่อมต่อกันและทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เด็กจะเริ่มเรียนรู้การตอบสนองกลับต่อการกระทำบางอย่าง เช่น การขยับตัวให้อยู่ในท่าที่แม่อุ้มได้สบายมากขึ้นซึ่งเด็กจะทำโดยอัตโนมัติเมื่อโดนอุ้มแล้วรู้สึกไม่สบายตัว

พัฒนาการด้านอารมณ์

เด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 1 เดือนสามารถสื่อสารอารมณ์ผ่านสีหน้าและการร้องไห้ได้ นอกจากนี้เด็กวัยนี้ยังสามารถรับรู้ความเครียดของพ่อและแม่ได้แล้วด้วย ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือคนเลี้ยงเครียดหรือมีอารมณ์ที่ไม่คงที่ก็อาจจะส่งผลต่ออารมณ์ของเจ้าตัวเล็กในวันนั้น ๆ ให้งอแงมากกว่าปกติ

พ่อแม่เสริมพัฒนาการอะไรให้กับลูกวัย 0-1 เดือนได้บ้าง?

การเสริมพัฒนาการด้านการมองเห็น 

คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมพัฒนาการด้านการมองเห็นให้กับลูกน้อยด้วยการจัดสภาพแวดล้อมทางการมองเห็นให้เหมาะสม เช่น แขวนโมบายหรือเล่นกับลูกด้วยการเคลื่อนไหวสิ่งของในระยะที่เขามองเห็นได้ชัดเพื่อฝึกให้ใช้สายตา โดยถ้าเป็นโมบายก็ควรเลือกของที่มีสีสันสดใสเพราะช่วยดึงดูดสายตาเด็กได้มากกว่า และถ้าจะเล่นกับเจ้าตัวเล็กก็ควรเป็นการเคลื่อนไหวช้า ๆ จากซ้าย-ขวาหรือขวา-ซ้าย ให้เขาได้มองตาม

การเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย

การเสริมพัฒนาการในด้านนี้ทำได้ง่ายมาก ๆ เพราะเด็กในวัยแรกเกิดยังไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง แต่การสัมผัสและอุ้มเจ้าตัวเล็กบ่อย ๆ จะทำให้เขาได้ใช้กล้ามเนื้อในการต้านแรงจากคนอุ้ม นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังช่วยให้เจ้าตัวน้อยออกกำลังกายได้ด้วยการจับแขนขาให้ยืดและงอช้า ๆ เบา ๆ วันละ 5-10 นาที 

การเสริมพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา

การเสริมสร้างพัฒนาการสมองและสติปัญญาส่วนใหญ่มักมาจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวของเจ้าตัวเล็กเอง เช่น การอ่านหนังสือให้ฟัง การคุยด้วยภาษาที่ผู้ใหญ่ใช้คุยกัน การคุยด้วยเสียงสูง-ต่ำ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้สมองของเจ้าตัวเล็กทำงานและค่อย ๆ เรียนรู้ไป ดังนั้นเพื่อพัฒนาการที่ดีควรทำสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ นอกจากนี้การส่งต่ออารมณ์ระหว่างคนภายในบ้านก็มีผลต่อการพัฒนาสมองของลูกได้เหมือนกันจึงควรระมัดระวังการส่งต่ออารมณ์ด้านลบแบบไม่ตั้งใจให้เจ้าตัวเล็กด้วย

การเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์

การเสริมพัฒนาการด้านนี้ก็จะคล้าย ๆ กับด้านสมองและสติปัญญาเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่บ้าง สิ่งสำคัญคือการพยายามไม่ส่งต่อความเครียดหรืออารมณ์ด้านลบให้กับลูก และพยายามเข้าหาด้วยท่าทางเป็นมิตรเสมอ พัฒนาการด้านนี้ของลูกน้อยจะส่งผลให้เห็นค่อนข้างทันที โดยให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่าในวันที่เราอารมณ์ไม่ค่อยดีหรือไม่ค่อยมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเพราะวันนั้นมีความเครียดหรือมีสิ่งที่ต้องทำเยอะเกินไป ก็จะเป็นวันที่เจ้าตัวเล็กงอแงและโยเยมากกว่าปกติไปด้วย

จะเห็นได้ว่าการเสริมพัฒนาการให้เจ้าตัวเล็กนั้นทำได้ทุกวันและทุกเวลาเลย ผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการทำสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้เห็นทันทีแต่จะค่อย ๆ แสดงออกมาให้คุณพ่อคุณแม่เห็นในแต่ละช่วงวัยของเขา เพราะกิจวัตรประจำวันและสิ่งแวดล้อมที่พ่อแม่สร้างให้คือตัวเสริมพัฒนาการที่ดีที่สุดสำหรับลูกนะคะ